Personal Branding หรือ การสร้างแบรนด์บุคคล เป็นหัวข้อที่ในปัจจุบันคนให้ความสนใจกันมาก ตัวขวัญเอง เมื่อไม่นานมานี้ก็มีโอกาสได้ไปบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางแรงงานไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ในงาน JOB EXPO THAILAND 2020 ให้กับผู้ที่กำลังหางาน
เลยเป็นที่มาของบทความนี้ ที่ขวัญอยากนำเสนอในเรื่องของการสร้าง Personal Branding หรือการสร้างแบรนด์บุคคล เพื่อช่วยให้ตัวเรามีจุดขายที่สร้างความแตกต่างจากผู้สมัครงานคนอื่น ๆ ให้เป็นที่น่าจดจำเพื่อให้บริษัทที่เราหมายตาไว้ สนใจเรียกเราเข้าไปสัมภาษณ์พูดคุย และให้โอกาสจ้างงานเรานั่นเองค่ะ
ถ้าไม่อยากอ่านยาว ให้ขวัญเล่าให้ฟังดีมั้ย? ดูที่คลิปด้านล่างเลยค่ะ (แบ่งออกเป็น 2 คลิปค่ะ) 👇
หัวข้อ (คลิกเลือกอ่านได้)
เทรนด์เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
ขวัญอยากจะถามทุกคน โดยเฉพาะคนที่กำลังหางานอยู่ ว่ารู้สึกกันไหมคะว่าในทุกวันนี้งานหายากมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก?? 😩 😩
จากการศึกษาวิเคราะห์ตลาดแรงงานในโลกปัจจุบัน ทำให้ขวัญได้ทราบว่าตอนนี้ตลาดแรงงาน และโลกของมนุษย์เงินเดือนได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาสักระยะแล้ว โดยโลกเราได้เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านของเทรนด์เทคโนโลยีมาสักพักใหญ่แล้ว มีตำแหน่งงานและเนื้อหางานใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน งานบางงานก็กำลังจะหายไปจากตลาดแรงงานเช่นกัน
ขวัญขอยกตัวอย่างให้ชัดเจนมากขึ้นนะคะ เช่น ตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่เรียกกันว่า Data Analysis เป็นลักษณะงานงาน (Job Description) ที่เมื่อก่อนมีคนรู้จักหรือให้ความสนใจอยากทำน้อยมาก เพราะรู้สึกว่าน่าเบื่อ ไม่ท้าทาย วัน ๆ อยู่แต่กับข้อมูลตัวเลขสถิติ แต่ในปัจจุบัน เชื่อหรือมั้ยคะว่าตำแหน่ง Data Analysis Specialist กลับเป็นสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอันดับต้น ๆ เลย แถมยังมีอัตราเงินเดือนที่สูงมาก ๆ เฉลี่ยปีละ 43,000USD – 102,000USD (ประมาณ 1,304,469.50 ถึง 3,094,323.00 บาท) เลยทีเดียว!! (ข้อมูลจากเว็บไซต์หางานชั้นนำของโลก glassdoor.com)
อีกลักษณะงานที่ที่เป็นที่ต้องการสูงมากในตลาดแรงงานในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ ก็คืองานต่างๆ ที่จะมาเป็นองค์ประกอบหลักของการตลาดออนไลน์ เช่น งานแบรนดิ้ง (อาทิเช่น Brand Manager, Brand Communication Specialist เป็นต้น) งานวางแผนกลยุทธ (Online Marketing Strategist) งานกราฟิกดีไซน์เนอร์ งานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ งานถ่ายภาพ งานถ่ายและตัดต่อวิดีโอสำหรับ Social Media โดยเฉพาะ (ซึ่งจะแตกต่างจากการตัดต่อสารคดีหรือภาพยนตร์) เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้น คือลักษณะงานที่ความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีบางงานที่กำลังจะหายไปจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ก็คืองานที่มีการนำโรบอทหรือระบบออโตเมชั่นต่าง ๆ เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกผลกระทบหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านนี้เช่นกันนะคะ
จากรายงานของ World Economic Forum 2018 ได้ระบุไว้ด้วยนะคะ ว่าอีกไม่เกิน 5 ปีต่อจากนี้ อัตราของการใช้แรงงานมนุษย์จะลดลงเรื่อย ๆ จากการนำเอาระบบเอไอหรือโรบอทเข้ามาทดแทนนั่นเองค่ะ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตำแหน่งงานที่น้อยลงนะคะ ตำแหน่งงานมีจำนวนมากขึ้น แต่เนื้อหาของงานจะเปลี่ยนไปค่ะ
ซึ่งงานที่จะถูกแทนที่ด้วยโรบอทก่อนเลย คืองานที่โรบอทสามารถทำแทนคนได้ เราเรียกกันว่า Low Valued Job จะมีลักษณะเนื้อหางานคือการทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะมากนัก เหล่านี้จะ ส่วนแรงงานคนจะต้องพัฒนายกระดับไปเป็นระดับการควบคุม การตั้งโปรแกรม การซ่อมบำรุง การพัฒนาระบบ และอื่น ๆ ที่ต้องใช้ Skill หรือ ทักษะ ให้มากขึ้น
ทีนี้ลองกันว่า ถ้าสายงานที่เราเรียนอยู่ หรือ ทำงานอยู่ตอนนี้ ต่อไปอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า ความต้องการของตลาดแรงงานมันเปลี่ยนไป คือ ต้องการแรงงานมนุษย์น้อยลงล่ะ ตำแหน่งลดลงแต่จำนวนผู้สมัครงานมากขึ้น เท่ากับอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น ถูกไหมคะ? ถ้าการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมันสร้างผลกระทบแบบนี้แล้ว เราในฐานะมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง ควรจะต้องรับมือกับยุคเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไรดี ควรต้องวางแผนพัฒนาตนเองไปในทิศทางไหนดี เพื่อให้สามารถก้าวข้ามผลกระทบนี้ไปได้แบบสวย ๆ สบาย ๆ?
การทำ Personal Branding สร้างแบรนด์ให้ตัวเราโดดเด่น หรือพูดง่าย ๆ คือ การหาจุดต่างสร้างจุดขายให้ตัวเองเป็นที่สนใจของบริษัทต่าง ๆ ท่ามกลางผู้สมัครงานคนอื่น ๆ เป็นร้อยเป็นพันคน จึงกลายมาเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดค่ะ ที่สำคัญ การมี Personal Branding นอกจากจะช่วยให้ได้งานที่มุ่งหวังแล้ว ยังช่วยให้เราไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกเลือกฝ่ายเดียว แต่เราเองก็มีสิทธิที่จะเลือกบริษัทและเนื้องานที่เหมาะสมกับเราได้ด้วยเช่นกันค่ะ ถ้าเพียงแต่เราสามารถสร้าง Personal Branding ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ
Personal Branding คืออะไร?
ก่อนที่จะสร้าง Personal Branding เราต้องเข้าใจก่อนว่าการสร้างแบรนด์บุคคลไม่ใช่แค่เรื่องของการปรับการแต่งกาย การปรับบุคคลิก ท่าทางการพูดจา หรือลักษณะท่าทางภายนอกเท่านั้น เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด มันเป็น “แค่ส่วนหนึ่ง” เท่านั้นของการสร้างแบรนด์บุคคล
ก่อนที่เราจะตอบคำถามว่า Personal Brand คืออะไรได้ เราต้องเรียนรู้ก่อนค่ะว่า “แบรนด์” คืออะไรเสียก่อน ซึ่งในโลกการตลาดมีการให้ความหมายคำว่าแบรนด์ไว้มากมาย แต่ขวัญจะขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยนิยามคำว่าแบรนด์ในแบบฉบับเข้าใจง่ายของ StartUp Now ตามภาพด้านล่างนี้เลยค่ะ
จากภาพ จะเห็นว่าแบรนด์ที่ดีต้องมี 4 คุณลักษณะด้วยกัน นั่นก็คือ
- ต้องมีเอกลักษณ์
- ต้องช่วยให้คนแยกแยะเราออกมาจากคู่แข่งได้
- ต้องช่วยให้คนจดจำเราได้
- ต้องสามารถสร้างภาพในใจของคนได้
แบรนด์บุคคล ก็เป็นแบบนี้เหมือนกันค่ะ มันคือการหาคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ คุณค่าบางอย่างในตัวของเรา ที่เป็นจุดเด่นของเราที่ไม่ซ้ำใคร อาจเป็นความเชี่ยวชาญ เป็นประสบการณ์ เป็นฝีไม้ลายมือ ความเก่งกาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้คนจดจำเราได้จากจุดนี้ และ ถ้านึกถึงเรื่องนี้ต้องนึกถึงเรา แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาสื่อสารผ่านตัวของเรา ทั้งคำพูด การกระทำ และผลงาน
บุคคลที่สามารถสร้างแบรนด์บุคคลได้ดี มีชื่อเสียงโดดเด่นในสาขาอาชีพของตัวเอง จนเป็นที่จดจำและสร้างภาพในใจคนได้อย่างดี ก็อย่างเช่น เชฟเอียน (เชฟพงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย) อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อาจารย์ลักษณ์ เรขานิเทศ เป็นต้นค่ะ ให้สังเกตนะคะว่าเวลาที่เรานึกถึงบุคคลเหล่านี้ เราจะไม่ได้จดจำแค่ความรู้ความสามารถที่เป็นเลิศในสาขาอาชีพของแต่ละคน แต่เราจะจดจำภาพได้ไปจนถึงอากัปกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง การพูดจา เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนด้วย แบบนี้ล่ะค่ะ ที่เรียกกันว่าการทำ Personal Brandnig ที่ประสบผลสำเร็จ
Personal Branding กับการหางาน
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามนะคะ จากตัวอย่างที่ยกมาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั้งในระดับประเทศและระดับโลกแต่เราซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นแรงงานอย่างเรา ควรจะต้องสร้างแบรนด์ให้ตัวเองอย่างไรดีล่ะ เราต้องทำถึงขนาดนั้นเลยหรือ เราไม่ได้อยากดังนะ เราแค่อยากได้งาน
ขวัญขอย้ำอีกครั้งค่ะว่าใด ๆ ก็แล้วแต่ที่อยู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย บุคคลิก ท่าทางการพูดจา คาแรกเตอร์ที่สร้างขึ้น เป็น “แค่องค์ประกอบ” เท่านั้นของการสร้างแบรนด์บุคคล แท้จริงแล้ว แบรนด์ของคุณ คือ ชื่อเสียงของคุณต่างหาก ซึ่งชื่อเสียงในที่นี้หมายถึงภาพในใจคนอื่นเวลาที่นึกถึงตัวเรา นึกถึงการทำงานของเราค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากเป็นหรือกำลังทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ เป็นนักบัญชี เป็นนักการตลาด และต้องการสมัครงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไป ให้ถามตัวเองก่อนว่าทุกวันนี้เวลาที่ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย นึกถึงเรา มองภาพเราเป็นนักกราฟิกดีไซเนอร์ นักบัญชี นักการตลาดแบบไหน? คิดว่าเวลาที่เขาพูดถึงเรากับคนอื่น เนื้อหาที่เขาพูดจะเป็นลักษณะไหน
ที่สำคัญคือ สิ่งที่คนอื่นพูดถึงเราอยู่ตอนนี้ มันคือสิ่งเดียวกับที่เราอยากให้เขาพูดถึงหรือเปล่า? เช่น เราอยากเป็นดีไซน์เนอร์ที่เก่งมาก ๆ ในด้านของออกแบบแพ็คเกจจิ้ง สิ่งที่ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายมองเห็นในตัวเรา พูดถึงและจดจำเรา มันเป็นแบบที่เราอยากจะเป็นหรือเปล่า
ถ้าภาพจำในใจคนอื่น สิ่งที่คนอื่นพูดถึงเรา กับสิ่งที่เราต้องการอยากจะเป็น อยากจะถูกจดจำได้ ยังเป็นคนละอย่างกัน คนอื่นยังไม่รับรู้ในสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อสาร นั่นแปลว่าคุณยังไม่มี Personal Branding หรือ ยังทำแบรนดิ้งให้ตัวเองได้ไม่ดีพอค่ะ
7 ขั้นตอนสร้าง Personal Branding ฉบับมนุษย์เงินเดือน
สเต็ปที่ 1: หา Brand DNA ให้ชัดเจนว่าเราเป็นใคร และต้องการทำอะไร
ถ้าเทียบตัวเราเป็นแบรนด์สักแบรนด์หนึ่ง ขั้นตอนนี้เป็นสเต็ปสำคัญ เป็นรากฐานของทุกสิ่งที่เราจะนำเสนอออกไป เราเรียกว่าการหา Brand DNA ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของแบรนด์เลยก็ว่าได้ มันคือการที่บริษัทหนึ่ง ๆ ให้คำจำกัดความตัวเองอย่างชัดเจนว่าบริษัทของเราอยากที่จะเป็นอะไรให้กับลูกค้า หรือ อยากที่จะส่งมอบอะไรให้กับสังคม
ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า เราอยากที่จะส่งมอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คุณภาพดีที่สุดในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายให้ทุกครัวเรือนในสังคมไทยได้ใช้อย่างปลอดภัย มั่นใจ และสบายใจ เป็นต้น
Brand DNA ที่ดีต้องสามารถสื่อสารให้คนเข้าใจ เห็นภาพ และจดจำได้ หมายถึงนอกจากที่จะรู้จักว่าชื่ออะไรแล้ว คนยังต้องสามารถ “นึกภาพออก” ได้ด้วย ยกตัวอย่างแบรนด์ Google สิ่งแรกที่คนจดจำได้ก็คือ “นึกอะไรไม่ออกให้เซิร์ชกูเกิ้ล” พูดง่าย ๆ ก็คือเป็น Search Engine ที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่มีการจัดระบบให้ใช้งานง่ายที่สุดชนิดที่ไม่ว่าใครบนโลกนี้ก็ใช้งานได้แบบไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เลย
หรืออย่างแบรนด์สตาร์บัค ที่เมื่อพูดถึง สิ่งที่ทุกคน “จำได้” “นึกออก” นอกเหนือจากรสชาติกาแฟแล้ว ก็จะเป็นเรื่องบรรยากาศของร้านที่ตกแต่งด้วยไม้สีน้ำตาลเข้ม มีเพลงคลอเบา ๆ บรรยากาศสบาย ๆ การที่เราเรานึกภาพออก จำภาพได้ นี่ล่ะค่ะ ที่ถือว่าเป็นการนำเสนอ Brand DNA ที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ของ Google และ Starbucks ถ้าไม่เชื่อ ลองดู Brand DNA ของทั้งสองแบรนด์จากภาพด้านล่างนี้ค่ะ ตรงตามสิ่งที่เราจดจำได้เลยใช่มั้ยล่ะคะ 😉
ทีนี้กลับมาดูที่แบรนด์บุคคลบ้าง ก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับแบรนด์บริษัทค่ะ คือ ต้องสื่อสารให้คนเข้าใจ เห็นภาพ และจดจำได้ แต่การที่เราจะหา Brand DNA ที่มีประสิทธิภาพให้กับตัวเอง ได้นั้น เราต้องมีความชัดเจนในตัวเองก่อนค่ะ และค่อยนำเสนอตัวตนของเราที่เราอยากให้คนจดจำได้ออกสู่โลกภายนอก
การหาความชัดเจนให้ตัวเองเราสามารถทำได้โดยการตอบคำถามด้านล่างนี้ให้ได้อย่างชัดเจนและครบถ้วนทั้ง 4 ข้อต่อไปนี้ค่ะ
- เรา เป็น/อยากเป็น อะไร?
- เรามี Passion (มีความรัก ความหลงใหล) หรือ มี Expertise (ความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น) อะไรบ้างในสายอาชีพนั้น?
- เราวาง Career Path หรือเป้าหมายการทำงานในอาชีพที่ใฝ่ฝันไว้อย่างไรบ้าง?
- เพื่อให้ไปสู่จุดหมายที่วางไว้ เราอยากส่งมอบอะไร หรืออยากเป็นอะไรให้กับบริษัทที่เราสมัครงาน?
สังเกตมั้ยคะ ว่านี่คือคำถามเบสิคเลยที่เราจะถูกถามตอนไปสัมภาษณ์งาน นั่นคือการที่บริษัทอยากรู้จักตัวตนของเราอย่างแท้จริงค่ะ คำถามแบบนี้นอกจากจะเปิดเผยความเป็นเราแล้ว ยังเผยให้เห็นถึงทัศนคติในการทำงานและการใช้ชีวิตอีกด้วย ดังนั้นในการตอบคำถาม 4 ข้อนี้ มันจึงไม่ใช่การตอบแบบสั้นๆ ว่าอยากเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ อยากเป็น Marketing ที่ดี หรือ อยากเป็นนักเขียนเก่ง ๆ เท่านั้นนะคะ เพราะแค่นั้นมันยังไม่ชัดเจนพอ และที่สำคัญมันธรรมดามาก ไม่มีอะไรน่าประทับใจให้จดจำได้เลยสักนิด
เราต้องนำเสนอประสบการณ์ ความเก่งกาจของเรา จุดเด่นของเราที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู็สมัครคนอื่น ๆ รวมถึงความคิด ทัศนคติ บุคลิก อุปนิสัย ตัวตนของเราแบบที่เราเป็นและเราอยากให้คนจดจำได้สะท้อนออกมาด้วย แบบนี้ Brand DNA ของเราจึงจะมีประสิทธิภาพและสามารถทำหน้าที่ของมันในการ “สร้างภาพจำ และ จับหัวใจคน” ได้อยู่หมัดค่ะ
ขวัญมีตัวอย่างการเขียนแบรนด์ DNA ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก เป็นแก่นของการทำงานของพนักงาน มาฝากค่ะ ให้สังเกตนะคะว่าแต่ละตัวอย่างสามารถตอบคำถามด้านบนได้ครบถ้วนทั้ง 4 ข้อ ซึ่งถ้าเราสามารถเขียนเนื้อหาเหล่านี้ลงในจดหมายแนะนำตัวตอนสมัครงาน หรือ นำพรีเซนต์ตัวเองในห้องสัมภาษณ์ได้แบบนี้ รับรองค่ะว่าเข้าตาฝ่ายบุคคลและบริษัทแน่นอน
สเต็ป 2: กำหนดและสร้าง Hard Skills ที่เป็นที่ต้องการของตลาด
ปัจจุบันในโลกของตลาดแรงงาน มีการแบ่งสกิลหรือว่าทักษะที่พนักงานจำเป็นต้องมีออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันนะคะ
ทักษะแรกเรียกว่า Hard Skill เป็นทักษะที่มาจากการเรียนรู้ ฝึกฝน และสอนงานกัน สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญได้เมื่อมีการเรียนรู้และฝึกฝน เป็นรูปธรรม สามารถวัดผลออกมาได้ชัดเจน ให้เราจำง่าย ๆ ว่า Hard Skill คือสิ่งที่ถูกระบุไว้ใน Job Description และ คุณสมบัติผู้สมัคร ของตำแหน่งงานนั่นเองค่ะ
ยกตัวอย่าง ตำแหน่งพนักงานบัญชี Job Description ก็คือ การทำบัญชี ทำบันทึกการซื้อขาย ทำบัญชีประจำเดือน ทำงบบัญชีของฝ่ายต่าง ๆ ทำเงินเดือนพนักงาน ทำเรื่องจ่ายเงิน Supplier ทำเรื่องภาษี คุณสมบัติผู้สมัครก็อาทิ สามารถใช้โปรแกรมคำนวณภาษี โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป โปรแกรมเงินเดือน ใช้โปรแกรมเอกเซลในการคำนวณได้ ฯลฯ หรืออย่างตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ Hard Skills ก็คือความรู้ความเชี่ยวชาญในโปรแกรมการออกแบบต่าง ๆ อาทิ Adobe illustrator, Photoshop เป็นต้น
ส่วนทักษะที่สองคือ Soft Skill ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในหัวข้อต่อไปนะคะ
ในส่วนของสเต็ปที่สองที่เป็นการกำหนดและสร้าง Hard skill นี้ ก็คือการระบุ Hard Skill ที่เรามีให้ตรงกันกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตรงกับความคาดหวังของบริษัทที่มีต่อตำแหน่งหรือสายงานที่เราอยากเติบโต
ซึ่งไม่ใช่การกำหนดเอาเอง มโนไปเองนะคะ เราต้องทำการศึกษาตลาดแรงงานก่อนว่าปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เวลาที่บริษัทต่าง ๆ เปิดรับงานในตำแหน่งนี้ มีการกำหนด Job Description และ ข้อคุณสมบัติผู้สมัครไว้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องดูเทรนด์ของ Hard Skill ในสายงานที่เราสมัครด้วยค่ะ
จากภาพด้านบนที่ Linkedin Learning ได้สรุป Skills ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills นำมาเปรียบเทียบกับ Hard Skills ของปี 2025 สำหรับตำแหน่งพนักงานฝ่ายบุคคลที่จำเป็นต้องมี (ข้อมูลจากเว็บไซต์ brightsidepeople.com) จะเห็นได้ว่าเทรนด์เทคโนโลยีของโลกเราเปลี่ยนเร็วมาก บางที Hard Skill อย่างพวกโปรแกรมต่าง ๆ เวอร์ชั่นที่เราใช้อยู่ตอนนี้ อีก 2-5 ปีอาจจะไม่มีใครใช้แล้วก็ได้ เราก็ต้องศึกษาเทรนด์ตรงนี้ด้วยไม่อย่างนั้นนอกจากจะตกยุคแล้ว บริษัทที่เราไปสมัครงานอาจประเมินว่าเราไม่มีความรอบรู้ในสายงาน และไม่มีวิสัยทัศน์การทำงานก็ได้ค่ะ
หลังจากที่เราทราบข้อมูลแล้ว ให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่าตัวเรามี Hard Skill ใดบ้างที่ตลาดต้องการหรือคาดหวังกับตำแหน่งที่เราอยากสมัคร เวลาที่เราเขียนเรซูเม่สมัครงาน ก็ให้เราเจาะจงในความเชี่ยวชาญของเราตาม Hard Skill นั้น ๆ ค่ะ
แล้วถ้า Hard Skill ที่เรามีมันไม่ตรง หรือ ไม่อัพเดทแล้วล่ะ จะทำอย่างไร? คำตอบคือ เราก็ต้องไปเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ทันกับเทรนด์ของ Hard Skill ที่มันเปลี่ยนแปลงไปค่ะ อาจไปเรียนเป็นคอร์สสั้น ๆ หรือใช้วิธีเรียกออนไลน์ก็แล้วแต่ ที่สำคัญคือนอกจากมีใบประกาศนียบัตร (Certificate)มาการันตีความสามารถแล้ว เรายังต้องเรียนจนรู้จริงและใช้งานได้จริง ด้วยนะคะ ถ้ารู้ไม่จริงหรือใช้งานไม่ได้ มีใบ Certificate ไปก็เท่านั้น แม้ว่าเราอาจจะผ่านการสมัครงาน แต่ก็ไม่อาจผ่านกระบวนการทดลองงานอยู่ดีค่ะ เพราะสุดท้ายแล้วผลงานที่ออกมาจะพูดได้ดังกว่าเสียงของเราเสมอค่ะ
สเต็ปที่ 3: หาและพัฒนา Soft Skill ให้โดดเด่น
Soft Skill หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า People Skill หรือ Interpersonal Skill คือการผสมผสานระหว่างทักษะของผู้คน ทักษะทางสังคม ทักษะการสื่อสาร ลักษณะนิสัยบุคลิกภาพ ทัศนคติการทำงานและการดำเนินชีวิต ความฉลาดทางสังคมและความฉลาดทางอารมณ์
พูดง่าย ๆ คือ เป็นทักษะที่ใช้ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมการทำงานนั่นเองค่ะ การสื่อสาร ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม การบริหารเวลา ภาวะผู้นำ เป็นต้น ซึ่งออกจะเป็นนามธรรมและค่อนข้างวัดผลได้ยากสักหน่อย อาจต้องใช้ระยะเวลาในการร่วมงานกันสักพักจึงจะเห็นศักยภาพเหล่านี้ค่ะ
ในปัจจุบัน Soft Skill เป็นทักษะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดแรงงาน หลายองค์กรเริ่มนำ Soft Skill มาผนวกรวมกับเกณฑ์ที่ใช้ในการสรรหาบุคลากรที่เหมาะสม รวมถึงการประเมิน Performance ของพนักงานปัจจุบันของบริษัทด้วย ดังนั้นขวัญจึงอยากแนะนำให้เราเขียนลงในเรซูเม่หรือจดหมายสมัครงานด้วยค่ะว่าเรามี Soft Skill อะไรบ้างที่โดดเด่น และเรามีการพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไร ที่สำคัญคือต้องดูด้วยว่าSoft Skill อะไรที่สำคัญกับสายอาชีพของเรา เพราะแต่ละอาชีพ Soft Skill จะแตกต่างกันไป
สร้าง Personal Branding ฉบับมนุษย์เงินเดือนสเต็ปที่ 4: กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
เนื่องจากเราเป็นคนสมัครงาน เป็นพนักงาน ดังนั้นเป้าหมายของเราในที่นี้ก็คือบริษัทหรือองค์กรนั่นเองค่ะ เราควรที่จะกำหนดเช่นกันนะคะว่าเราอยากที่จะทำงานในบริษัทแบบไหน บริษัทนั้นมีวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน มีสไตล์การทำงาน มีบรรยากาศการทำงานยังไง รวมถึง DNA ของบริษัทซึ่งจะสะท้อนทิศทางในการดำเนินธุรกิจและสิ่งที่องค์กรต้องการส่งมอบให้กับพนักงานและสังคมได้ รวมถึงทราบในสิ่งที่บริษัทนั้น ๆ ให้คุณค่า (Value) และให้ความสำคัญด้วย เมื่อกำหนดได้แล้ว เราค่อยเลือกสมัครงานกับบริษัท สถาบัน หรือ องค์กรที่มีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกับที่เราตั้งเป้าหมายไว้ค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น Brand DNA ของบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความบันเทิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกผ่านการเล่าเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้จินตนาการ บวกกับเทคโนโลยีความบันเทิงที่ล้ำสมัยแบบไม่มีใครเทียบได้ ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากทำงานในสถานที่ทำงานที่สนุกสนาน ทันสมัย ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คน ก็มุ่งหน้ายื่นใบสมัครได้เลยค่ะ
สาเหตุที่เราต้องตั้งเป้าหมายก่อนสมัครงาน ก็เพื่อให้ชีวิตการทำงานของเราราบรื่นและคงความกระตือรือร้น (passion) ในการทำงานไว้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเจออุปสรรค เหนื่อย เครียด เราก็จะยังสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข เพราะได้อยู่ในสถานที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมที่เราชอบ อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรที่เรายินดี ที่สำคัญคือการทำงานในองค์กรที่มี DNA สอดคล้องกับความเชื่อมั่นหรือความตั้งใจในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตของเรา จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีที่ทำให้เรามีไฟในการทำงานอยู่เสมอค่ะ
สเต็ป 5: สื่อสารออกไปให้คนจดจำ
ขั้นตอนที่ 1-4 จะเป็นการค้นหาตัวเอง และเรียนรู้ความต้องการของตัวเอง แต่สำหรับขั้นตอนนี้ถือว่ามีความสำคัญสูงสุดค่ะ นั่นคือ การนำสิ่งที่ทำมาทั้งหมดใน 4 ขั้นตอนแรก มาสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ให้กลุ่มเป้าหมาย คือ ฝ่ายบุคคล ผู้สัมภาษณ์ ผู้บริหารของบริษัทหรือองค์กรที่เราไปสมัครงาน รู้จักตัวตนของเราและจดจำเราได้ โดยช่องทางที่เรามักใช้ในการสื่อสาร Personal Branding ในการสมัครงาน ได้แก่
1) Resume ที่เราจะสื่อสารว่า Hard Skill ของเรามีอะไรบ้าง เราอาจจะสื่อสารแบบเจาะลึกลงไปว่าเราเก่งเรื่องอะไรจริง ๆ เช่น “เป็นกราฟิกที่เก่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์” “เป็นกราฟิกที่เก่งเรื่องการออกแบบแบรนด์” “เป็นนักการตลาดที่เก่งเรื่องการออกแบบคอนเทนต์” เป็นต้น คือเราต้องเจาะจงไปเลยค่ะเพื่อให้คนที่อ่าน Resume เข้าใจจุดเด่นของเรามากขึ้น และจดจำเราได้ง่ายขึ้นด้วย
2) จดหมายแนะนำตัว เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราสามารถใช้สื่อสารตัวตนและความสามารถของเราได้ในเบื้องต้น ที่สำคัญ เป็นอีกหนึ่งจุดที่ฝ่ายบุคคลจะพิจารณาว่าจะเรียกคุณมาสัมภาษณ์ต่อหรือไม่ เพราะการเขียนจดหมายแนะนำตัวที่ถูกต้องตามมารยาททางธุรกิจ จะเป็นเครื่องพิสูจน์อีกอย่างว่าคุณมีความเป็นผู้ใหญ่ (สำหรับคนที่พึ่งจบ) หรือเป็นมืออาชีพ (คนที่ทำงานมาสักระยะ) เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เปิดรับหรือไม่ เราจึงควรเขียนจดหมายแนะนำตัวที่บอกจุดเด่นของตัวเองด้วย รวมถึงบอกเพิ่มเติมว่าเรามีคุณสมบัติอะไรที่เป็น Soft Skills สำคัญที่เหมาะกับตำแหน่ง เหมาะกับองค์กร
3) Portfolio/Showreel เป็นช่องทางสำคัญเลยนะคะที่เราจะสามารถนำเสนอ Hard Skills ของเราได้อย่างเต็มที่ บางสายงาน Portfolio มีน้ำหนักในการตัดสินใจเลือกรับคนเข้าทำงาน เช่น งานกราฟิกดีไซน์ งานออกแบบและทำเว็บไซต์ งานตัดต่อวีดีโอ งานโปรดักชั่นอื่น ๆ เป็นต้น
4) Blog/Website เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นำเสนอ Hard Skills ได้อย่างดี สร้างข้อได้เปรียบเหนือผู้สมัครงานคนอื่น ๆ ได้อีกระดับหนึ่ง งานที่มักสร้าง Blog ก็อย่างเช่น Content Creator นักเขียน ช่างภาพ ช่างวีดีโอ บางคนอาจทำเป็นเว็บไซต์, เว็บบล็อก , Vlog ,YouTube Channel, หรือ Podcast ก็ได้สำหรับบางสายงาน ไม่ว่าจะนำเสนอรูปแบบหรือแพลตฟอร์มใดก็ตาม ขวัญแนะนำให้พยายามใส่ผลงานที่แสดงฝีมือของเราลงไปให้ได้มากที่สุด
หลายคนที่มีความเชี่ยวชาญใน Hard Skills ของตัวเองระดับหนึ่งแล้ว มักจะสามารถค้นพบสไตล์งานที่เป็นเอกลักษณ์หรือที่เราเรียกกันว่า “มีลายเซ็น” สิ่งนี้แหละค่ะที่จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบชัดเจนเลยในการพิจารณารับเข้าทำงานค่ะ
5) การสัมภาษณ์งาน ระหว่างการสัมภาษณ์พูดคุยให้เรานำเสนอสิ่งที่เราทำในขั้นตอนที่ 1-4 ให้ผู้สัมภาษณ์เราได้รู้จักตัวเราอย่างแท้จริงค่ะ ให้จำไว้เสมอว่าสิ่งที่เราสื่อสารนั้น ไม่ว่าจะเป็น DNA ของเรา Hard Skills Soft Skills รวมถึงความตั้งใจ ความเชื่อมั่น ทัศนคติในการทำงานและการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับ DNA ของบริษัท เหล่านี้ต้องเป็นเรื่องจริง เป็นตัวตนของเราจริง ๆ
6) ระหว่างการทำงาน เป็นการสื่อสารที่ตรงและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะ DNA, Hard Skills, Soft Skills เราควรสะท้อนออกมาในรูปแบบของการทำงานจริงและผลงานที่ออกมา (Performance) ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าเราจะได้ผ่านการทดลองงานและได้เป็นพนักงานในองค์กรที่เรามุ่งหวังไว้หรือไม่
สเต็ป 6: ปรับเปลี่ยน Look & ปรับปรุงบุคลิกภาพ
ถ้าเปรียบกับแบรนด์สินค้า เรื่องของบุคลิกภาพ การแต่งกาย การแสดงออก ก็เปรียบเสมือนแพคเกจจิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนภายนอกมองเห็น ประเมิน ประทับใจในตัวเรา ที่ผ่านมาเราอาจจะคุ้นชินกับการสร้าง Personal Brand ของ CEO หรือเจ้าของแบรนด์ ซึ่งจะเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่แตกต่างออกไปเพราะเป็นเรื่องของการเอา Corporate Branding เข้ามาหลอมรวมเพื่อแสดงออกหรือสื่อสารถึงแบรนด์หลักด้วย จึงมีรายละเอียดปลีกย่อยเต็มไปหมด เช่น สีเสื้อผ้าและรูปแบบเสื้อผ้าที่ใช้ในแต่ละโอกาส ทรงผม การแต่งหน้า(กรณีเป็นผู้หญิง) พรอพที่ต้องติดตัว (เช่น หมวก แว่นตา ผ้าพันคอ ฯลฯ) ตลอดจนท่าทางการยืน เดิน นั่ง น้ำเสียงที่ใช้ เรื่องที่ต้องสื่อสาร และอื่น ๆ อีกมากมาย
ตัวอย่างของ CEO Branding ของแบรนด์เถ้าแก่น้อย
สื่อถึงคนรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าลองสิ่งที่แตกต่าง มีความเป็นเอกลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสื่อถึง Image หรือ ภาพลักษณ์ของแบรนด์และสินค้าด้วย
แต่ Personal Branding ฉบับมนุษย์เงินเดือนจะต่างออกไปค่ะ จะมีเพียง 4 หลักการเท่านั้นที่เราต้องยึดถือและให้ความสำคัญ ดังนี้
1) Look Professional in Your Field
คือ การแต่งกายให้เหมาะสมกับตำแหน่งงาน ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำตำแหน่ง Back Office หรือฝ่ายโปรดักชั่นที่ไม่ต้องพบเจอลูกค้า หรือวัฒนธรรมขององค์กรเราเป็นแบบสบาย ๆ เราอาจจะสามารถใส่เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโลกับกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบไปทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลใจ
แต่ถ้าตำแหน่งหน้าที่เราเป็นเซลล์ เป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับที่จะต้องดูแลลูกค้าก็อาจจะต้องปรับลุคใหม่ให้สุภาพ สวยงาม น่าประทับใจ แต่ไม่เป็นทางการจนน่าอึดอัด หรือถ้าเราอยู่ในบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ในธุรกิจหรือตำแหน่งที่ต้องการความน่าเชื่อถือสูง ต้องเดินทางไปติดต่อกับลูกค้ารายใหญ่ ๆ มูลค่างานเป็นหลายล้าน หรือ ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ เราก็ควรจะต้องใส่สูทกับรองเท้ารัดส้นแบบสุภาพ เป็นต้น
2) Look Professional in Your Company
นอกจากที่เราดูจะดูเป็นมืออาชีพในสายงานแล้ว เราต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเราด้วยนะคะ ว่าบริษัทที่เราสมัครงานเข้ามานั้นเป็นองค์กรขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มีความต้องการให้พนักงานแต่งกายลักษณะไหน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเอเจนซี่ที่นิยมให้พนักงานกล้าคิดกล้าแสดงออก มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความมั่นใจสูง ก็อาจจะส่งเสริมให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง แต่งตัวสะท้อนบุคลิกภาพตัวตนของแต่ละคนอย่างเต็มที่ เพียงแค่ต้องดูสุภาพและไม่โป๊มากจนเกินไปเท่านั้น หรือบริษัทแฟชั่นก็อาจจะอยากให้พนักงานแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของแบรนด์ หรือ แต่งกายทันสมัย ไม่เชย เพื่อให้เข้ากับคอนเซปท์ผู้นำแฟชั่นของบริษัท เป็นต้น
3) Standard Business Manners & Appearance
ในโลกของธุรกิจ โลกของการทำงาน นอกจากการมีคาแรคเตอร์และความเป็นตัวของตัวเองแล้ว เรายังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาทในการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ได้รับความร่วมมือที่ดี ได้รับการสนับสนุนทั้งจากเพื่อร่วมทีมและจากหัวหน้างาน
มารยาทในการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือที่เรียกกันว่า Work Etiquette ไม่ได้มีหลักการตายตัวแต่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ตามค่านิยมของสังคม ที่นิยมปฏิบัติต่อ ๆ กันมา และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลก็เช่น
- การตรงต่อเวลา
- การรักษาคำพูด
- การพูดจาให้เกียรติคนอื่นแม้ว่าจะสนิทกันแล้วก็ตาม
- ไม่พูดขัดขณะที่คนอื่นกำลังพูดอยู่
- การรักษาความสงบ ไม่เปิดเพลง ไม่ทำเสียงดัง ไม่เปิดเสียงมือถือดัง หรือเอะอะโวยวายในช่วงเวลาทำงานเพราะเป็นการรบกวนสมาธิคนอื่น
- ไม่นำของที่มีกลิ่นแรงเข้ามาในที่ทำงาน เช่น ทุเรียน ขนุน ส้มตำปลาร้า สะตอ กะปิ เพราะคนอื่นอาจไม่ได้ชอบเหมือนเรา
- ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็มีข้อปฏิบัติบางอย่างที่ปรับตามยุคสมัย เมื่อก่อนคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ซีเรียสและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เพราะนั้นแสดงถึงความเป็นมืออาชีพในสายงานอย่างแท้จริง อาทิเช่น
- ไม่ Bully คนอื่น: ไม่พูดจา แสดงกิริยาเหยียดหยาม ล้อเลียน Make Joke ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รสนิยม เพศสภาพ รูปร่างหน้าตา และอื่น ๆ
- ตรงต่อเวลา ไม่มีใครต้องรอใคร: เมื่อก่อนมีค่านิยมให้เด็กรอผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส แต่ปัจจุบันคือทุกคนต้องตรงต่อเวลา เพราะเวลาของทุกคนมีค่าไม่แตกต่างกัน
- ให้เครดิตเสมอ: สมัยก่อนเราอาจมีค่านิยมปิดทองหลังพระ ทำผลงานแต่คนรายงานได้หน้า ไม่รักษาสิทธิกันเพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่จะต้องเคลมผลงาน แต่ปัจจุบันความคิดการทำงานปรับเปลี่ยนไป การให้เครดิตผู้ที่สร้างผลงานหรือเป็นผู้คิดค้นถือเป็นเรื่องที่ห้ามละเลย คนที่เป็นมืออาชีพจะไม่แอบอ้างผลงานคนอื่น
- เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทีมและเปิดใจรับฟังคอมเมนท์โดยไม่แบ่งแยกเด็ก-ผู้ใหญ่ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น รวมถึงการเคารพและไม่ดูถูกความคิดเห็นของผู้อื่น
- ฯลฯ
4) Focus more on expressing and developing your skills
ข้อ 1-3 เป็นเรื่องของภายนอกที่ดูเป็นมืออาชีพ แต่ที่สำคัญสุดคือเนื้อแท้ของเราต้องเป็นมืออาชีพด้วย ขวัญจึงอยากให้ทุกคนโฟกัสที่การแสดงผลงาน และการหมั่นพัฒนา Hard Skills และ Soft Skills ของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเรามีสิ่งที่ดีที่พัฒนาแล้ว ก็อย่าลืมนำเสนอสิ่งเหล่านั้นในผลงาน ในการทำงานด้วยนะคะ
สเต็ปที่ 7: ทำอย่างต่อเนื่อง
ข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก ๆ ค่ะ เวลาที่เราอยากจะสร้างภาพจำของตัวเราในใจใครสักคน กุญแจสำคัญคือเราต้องมีการทำอย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันว่าเราเป็นคนแบบนั้นจริง ๆ ขวัญยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้คนจดจำได้ว่าเรามีสกิลของความเป็นทีมเวิร์ค ทำงานเป็นทีมได้ เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำ ๆ ด้วยการให้ความร่วมมือกับทีม มีภาวะผู้นำ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ฟังและผู้ปฏิบัติตามที่ดีด้วย
และการที่เราจะยืนหยัดในการแสดงออกถึง DNA, Hard Skills, Soft Skills ที่เรามี เราเป็น ได้นั้น เราต้องเชทื่อมั่นในตัวเองเสียก่อนค่ะว่าเราเป็นแบบนั้นจริง ๆ ซึ่งหัวใจของความเชื่อมั่นนั้นก็คือ ความซื่อสัตย์กับตัวเองและจริงใจกับผู้อื่นค่ะ
ในการสร้างแบรนด์บุคคลอย่างยั่งยืน ทุกเรื่องทุกสิ่งที่เราแสดงออก ที่เราต้องการให้คนจดจำได้เกี่ยวกับตัวเรา ต้องเป็นเรื่องจริงค่ะ เราไม่สามารถเป็นคนอื่นได้ตลอดไป ดังนั้นถ้าอยากให้คนอื่นจำว่าเราเป็นคนเก่งเราต้องเก่งจริง ๆ เสียก่อนค่ะ เพราะการสร้างแบรนด์บุคคลฉบับมนุษย์เงินเดือน ไม่ใช่เรื่องของการหลอกลวงหรือสร้างภาพ แต่มันคือการที่เราหาตัวเองจนเจอ รู้ว่าเรามีจุดเด่นเรื่องอะไร รู้ว่าเราจะพัฒนาไปในด้านไหน รวมไปถึงควรหางานลักษณะไหนที่ดีกับใจและกับอนาคตของเรา แล้วก็สื่อสารมันออกไปให้บริษัทหรือองค์กรที่เรามุ่งหวังได้รับรู้ เพียงเท่านี้การหางานก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป ขอให้ทุกท่านโชคดีได้งานที่รักนะคะ 🙂
อย่าลืมติดตามข่าวสาร สาระ เรื่องราวดิจิตอล ฉบับเข้าใจง่ายได้ทุกวันที่ Facebook Fanpage ของ StartUp Now นะคะ STARTUP NOW Facebook Fanpage
อ่านเรื่องการตลาดดิจิตอลเพิ่มเติมได้ที่นี่ บทความการตลาดออนไลน์
อยากดูคลิปความรู้ดิจิตอลฉบับเข้าใจง่ายคลิปอื่น ๆ ไปเยี่ยมชมช่อง YouTube ของ StartUp Now กัน