การยิง Facebook Ads ด้วยมือถือ
Facebook Ads หรือการยิงโฆษณาเฟสบุ๊ค ปกติถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ขวัญจะแนะนำว่าการยิงโฆษณาเฟสบุ๊คที่ดีควรที่จะใช้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คในการยิงจะดีกว่านะคะ
เพราะว่าในมือถือหรือแท็บเล็ตนั้นจะเป็นแอพพลิเคชั่นเฟสบุ๊คค่ะ ซึ่งจะมีการตัดฟังก์ชั่นหรือฟีเจอร์บางอย่างที่ใช้ในการกำหนดตัวเลือกการยิงโฆษณาออกไป เมื่อตัวเลือกการยิงโฆษณามีไม่มาก การตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายให้แคบลงก็ไม่อาจทำได้มากนัก ส่งผลให้ค่ายิงโฆษณาแพงกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ยิงผ่านระบบตัวจัดการโฆษณาค่ะ ที่สำคัญคือความแม่นยำก็จะลดลงไปด้วย
แต่การยิงแอดด้วยมือถือก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลย ข้อดีของการยิงแอดด้วยมือถือที่สำคัญที่สุดเลยคือ ความสะดวกและใช้งานง่ายมาก ๆ ค่ะ จึงเหมาะสำหรับ
- คนที่เป็นมือใหม่หัดยิงแอด ไม่ได้ยิงโฆษณาที่ซับซ้อนมากนัก อยากที่จะลองใช้มือถือยิงง่ายๆ ดู
- คนที่มีข้อจำกัด เช่น ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่มีโน้ตบุ๊ค
- คนที่บางเวลาไม่สะดวกที่จะใช้คอมพิวเตอร์ อย่างเช่น อยู่ข้างนอกออฟฟิศ มาออกบูธงานแสดงสินค้า แต่ต้องรีบโปรโมทโพสต์ยิงโฆษณา Facebook Ads เพื่อดึงคนมาซื้อของที่บูธ
แบบนี้เป็นต้น เราก็อาจจจะใช้มือถือในการยิงแอดไปก่อนได้ค่ะ ซึ่งวันนี้ขวัญจะมาสอนทุกท่านยิงโฆษณา Facebook Ads ด้วยมือถือเครื่องเดียวว่าทำอย่างไรจึงจะให้ได้ผลดีที่สุดค่ะ
และเช่นเคยนะคะ ขวัญจะมีคลิปสอนแบบสเต็ปบายสเต็ปอยู่ด้านล่างนี้ให้กดดูและทำตามได้เลยค่ะ ใต้คลิปก็มีสรุปขั้นตอนให้อีกทีค่ะ
ขั้นตอนยิง Facebook Ads ด้วยมือถือ
ข้อควรรู้ก่อนใช้มือถือยิงแอด
- เวลาที่เราจะยิงโฆษณาเฟสบุ๊ค เราจะไม่ใช้วิธีกดคำปุ่มโปรโมทโพสต์ที่อยู่ใต้โพสต์ในหน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจของเรานะคะ แต่เราจะใช้แอพพลิเคชันที่ชื่อว่า Facebook Business Suite นะคะ ซึ่งเดิมก็คือแอพ Facebook Page Manager หรือตัวจัดการเพจธุรกิจของเรานั่นเองค่ะ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มยิงแอดด้วยมือถือ ให้ทุกคนไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Facebook Business Suite มาไว้ในมือถือก่อนนะคะ ทำการติดตั้ง ผูกกับบัญชี Facebook ของเราให้เรียบร้อย
- ก่อนยิงโฆษณา ให้เราทำการโพสต์คอนเทนต์ที่เราต้องการโปรโมทลงในเพจให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยเปิดแอพ Facebook Business Suite เพื่อยิงแอดต่อไปค่ะ
ขั้นตอน 1: กดเปิดแอพพลิเคชั่น Facebook Business Suite
ขั้นตอนที่ 2: กดเลือกเพจที่เราต้องการยิงโฆษณา
(ขั้นตอนนี้สำหรับคนที่มีเพจที่ดูแลอยู่มากกว่า 1 เพจ นะคะ แต่ถ้าคุณมีเพจเดียวก็ให้ข้ามไปขั้นตอนที่ 3 ได้เลย)
2.1 คลิกเลือกรูปโปรไฟล์ที่อยู่แถบเมนูด้านล่างซ้ายมือสุด กด 1 ครั้ง
2.2 ระบบจะแสดงหน้าหลักของเพจ ให้กดเลือกที่รูปโปรไฟล์ที่อยู่มุมบนซ้ายมืออีก 1 ครั้ง ระบบจะแสดงเพจทั้งหมดที่เราดูแลอยู่ ให้เรากดเลือกเพจที่ต้องการ 1 ครั้ง
2.3 กดคำสั่งที่แถบเมนูด้านล่างอันที่ 2 เพื่อให้กลับไปยังหน้าเพจที่แสดงโพสต์
ขั้นตอน 3: เลื่อนไปยังโพสต์ที่ต้องการโฆษณา แล้วคลิกปุ่ม “โปรโมทโพสต์” ที่อยู่ใต้โพสต์
ขั้นตอน 4: ตั้งค่าเป้าหมายการยิงโฆษณา (Objective)
เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกเป้าหมายของการโฆษณานะคะ เพราะมีผลอย่างยิ่งเวลาที่ AI ของ Facebook นำการตั้งค่าของเราไปคำนวนอัลกอริทึมเพื่อนำส่งโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยเป้าหมายที่มีให้เราเลือกจะมี 4 หัวข้อด้วยกัน ให้กดที่คำว่า “ดูเพิ่มเติม” เพื่อดูหัวข้อให้ครบนะคะ
ในการพิจารณาเลือกเป้าหมาย เราต้องพิจารณาลักษณะของโพสต์ที่เราต้องการโฆษณาด้วยนะคะ ดังนี้ค่ะ
4.1 เป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ – เหมาะสำหรับคนที่มีเว็บไซต์ธุรกิจ ลักษณะโพสต์ เช่น การแชร์เนื้อหาหรือบทความจากเว็บไซต์ธุรกิจของเรามา เมื่อคนคลิกที่รูปก็จะลิงค์ผู้อ่านไปยังเว็บไซต์ธุรกิจหน้าที่แสดงเนื้อหานั้น ๆ หรือการโพสต์โปรโมทสินค้าที่เมื่อคนคลิกจะนำไปสู่หน้าช้อปออนไลน์บนเว็บของเรา เป็นต้น
4.2 เพิ่มการมีส่วนร่วม อันนี้เป็นที่นิยมกัน ภาษาอังกฤษเรียก engagement หมายถึงการไลค์ การคอมเมนท์ การแชร์ เหมาะสำหรับการสร้างไวรัล โปรโมทให้คนรู้จักแบรนด์ ให้คนเห็นโพสต์เยอะ ๆ
4.3 เพิ่มจำนวนข้อความ เหมาะกับโพสต์โปรโมชั่น โพสต์ขายของ ที่อยากจะสร้างยอดขาย เน้นให้คนทัก inbox มาสั่งของกันเยอะ ๆ ซึ่งในหัวข้อนี้จะมีแตกออกมาเป็นส่งข้อความ WhatsApp ด้วยนะคะ ซึ่งเหมาะกับบางประเทศที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้แอพพลิเคชั่น WhatsApp กัน เช่น อินเดีย เวียตนาม รัสเซีย ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา เป็นต้น
4.4 เพิ่มจำนวนการโทร เหมาะกับธุรกิจหรือสินค้าที่ต้องใช้เซลล์ในการปิดการขาย เช่น สินค้าราคาสูงอย่างบ้าน รถยนต์ หรือสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ หรือ บริการต่าง ๆ ที่ต้องมีการนัดหมาย เป็นต้น
ขั้นตอน 5: ตั้งค่าหมวดหมู่โฆษณาพิเศษ
เนื่องจากตอนนี้เฟสบุ๊คจะมีเรื่องของ sensitive content เพิ่มเข้ามา ดังนั้นในการตั้งค่าจึงมีหัวข้อนี้เพิ่มมาด้วย โดย Facebook ต้องการทราบว่า content ที่เราต้องการยิงแอดนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งถ้าเราขายของตามปกติในหัวข้อนี้ก็จะไม่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องกดเปิดนะคะ
ขั้นตอนที่ 6: ตั้งค่ากลุ่มเป้าหมาย
หมายถึงการกำหนดกลุ่มคนที่จะเห็นโฆษณาของเรา เป็นการตั้งค่าที่สำคัญมากนะคะ ห้ามกดผ่านเด็ดขาดนะคะ ต้องตั้งค่าเสมอ เพราะการตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การยิงโฆษณาของเราประสบความสำเร็จค่ะ ให้คลิก “คนที่คุณเลือกผ่านการกำหนดเป้าหมาย” >> “แก้ไข”
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจะมีหัวข้อที่เราต้องตั้งค่าดังนี้ค่ะ
6.1 กำหนดตำแหน่งที่ตั้ง
ให้สังเกตว่าค่า default จะเป็นคำว่า “ไทย” แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางธุรกิจก็ไม่ควรที่จะยิงโฆษณาไปหาคนทั้งประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือ ธุรกิจบริการต่าง ๆ เช่น ล้างแอร์ ซ่อมบ้าน กำจัดปลวก ติดตั้งเคเบิ้ลทีวี อู่ซ่อมรถ ฯลฯ เหล่านี้เป็นธุรกิจที่เน้นการให้บริการคนที่อยู่ในพื้นที่หรือในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง ไม่ได้ขายคนทั้งประเทศ ถ้าจะยิงหาคนทั้งประเทศก็จะสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น ให้กำหนดเป็นจังหวัดแทนค่ะ
แต่ถ้าธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่สามารถจัดส่งได้หรือสามารถให้บริการได้ทั่วประเทศเลย เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องสำอางสกินแคร์ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจบริการที่มีแฟรนไชส์ตามจังหวัดต่าง ๆ หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวการโรงแรมที่เน้นขายนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศหรือทั่วโลก จึงสามารถกำหนดตำแหน่งที่ตั้งเป็น “ไทย” ได้ค่ะ
- การตั้งค่าตำแหน่งที่ตั้งใหม่สามารถทำได้โดยคลิกที่ลูกศรด้านข้างแล้วก็กดลบคำว่าไทยออก เสร็จแล้วก็พิมพ์ชื่อจังหวัดที่ต้องการ (จังหวัดที่ธุรกิจเราตั้งอยู่ หรือ จังหวัดใกล้เคียง) เป็นภาษาอังกฤษหรือไทยก็ได้นะคะ ระบบจะแสดงชื่อให้อัตโนมัติ ให้เราคลิกเลือกชื่อจังหวัดหนึ่งครั้งเพื่อยืนยันการเลือก
- ถ้าธุรกิจของเรามีหน้าร้านหรือสาขามากกว่า 1 จังหวัด เราก็ทำแบบเดิม คือ พิมพ์ชื่อจังหวัดแล้วก็กดเลือกเพื่อยืนยัน ทำแบบนี้ต่อ ๆ กันไปได้เลยค่ะ
- เมื่อเราตั้งค่าตำแหน่งที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว คลิกคำว่า “บันทึก” ที่อยู่ด้านล่าง
6.2 กำหนดคุณลักษณะ
คือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงไปอีกเพื่อให้การยิงแอดมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มตัวกรองการนำส่งโฆษณาให้อัลกอริทึ่มของเฟสบุ๊คนำส่งโฆษณาของเราให้ถูกคน ให้กับคนที่มีแนวโน้มสนใจหรือแนวโน้มจะซื้อสินค้าบริการของเราจริง ๆ วิธีการเลือกดูตัวกรองเพื่อตั้งค่า ทำได้โดยการคลิกที่ลูกศรด้านข้างหนึ่งครั้ง
ระบบจะแสดงกล่องข้อความขึ้นมาให้เราเลือกใส่คำที่เป็นข้อกำหนดของเราลงไป โดยสิ่งที่เราสามารถใส่ลงในกล่องข้อความนี้จะมีหลายอย่าง ให้เราพิจารณาใส่โดยคำนึงถึงสินค้า/บริการ/ธุรกิจ และคอนเทนต์ที่เราจะโฆษณาเป็นหลัก
วิธีการใส่คือให้พิมพ์คีย์เวิร์ดลงไป จะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้นะคะ จากนั้นระบบจะแสดงคำๆนั้น หรือ ลิสต์คำที่เกี่ยวข้องประมาณ 3-4 คำ ให้เราเลือกโดยคลิก 1 ครั้งที่คำที่ต้องการเพื่อยืนยันการเลือกค่ะ โดยหัวข้อหลัก ๆ ที่เรามักเลือกใส่ในกล่องข้อความนี้ ได้แก่
a. ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา สถานภาพการสมรส ฯลฯ
b. ความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย หรือ interest ยกตัวอย่างเช่น เราโพสต์ขายของเกี่ยวกับความสวยความงาม ก็อาจจะเลือกความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเป็น beauty, fashion, skincare เป็นต้น ขึ้นกับว่าสินค้าที่เราขายเป็นอะไร หรือถ้าเราโพสต์ขายรถยนต์ก็สามารถโพสต์เป็นรุ่นของรถที่เราโพสต์ขายได้เลย เช่น Toyota Camry, Honda Civic เป็นต้น ซึ่งเราสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ด้วยนะคะว่าเป็นมือหนึ่ง หรือ มือสอง เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แคบและชี้เฉพาะลงไปอีก
c. พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย (Behavior) เช่น งานอดิเรก ความสัมพันธ์ โอกาสสำคัญในชีวิต ฯลฯ
แต่หากเราคิดไม่ออกว่าธุรกิจของเรา หรือโพสต์ของเรา ควรต้องพิมพ์คีย์เวิร์ดคำว่าอะไรบ้าง ระบบก็มีตัวช่วยให้ค่ะ โดยเลื่อนลงมาด้านล่างจะมีคำว่า “เลือกดู” เมื่อคลิกเข้าไปแล้วจะมีช่องว่าง เมื่อเราเริ่มพิมพ์คำลงไป ระบบจะแสดงลิสต์คำที่เกี่ยวข้องขึ้นมาจำนวนมากกว่าการไม่กดปุ่มเลือกดู เราสามารถกดเลือกได้หลายตัวเลือกเลยนะคะ จากนั้นให้กด “บันทึก”
ในช่องการค้นหานี้นะคะ ไม่ได้ตั้งค่าได้แค่ความสนใจอย่างเดียว แต่สามารถตั้งค่าเรื่องข้อมูลประชากรเพิ่มเติมได้อีกด้วยนะคะ เช่น จบการศึกษาระดับไหน แต่งงานแล้วหรือยัง สถานะการแต่งงานเป็นยังไง
หลายคนอาจจะงงนะคะว่าแล้วระดับการศึกษาจะมาสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อของของคนได้อย่างไร อธิบายง่าย ๆ แบบนี้ค่ะว่าด้วยระบบของ Facebook ไม่ได้มีการกำหนดให้ใส่เรื่องของรายได้หรือเงินเดือนตอนที่เราสมัครบัญชีนะคะ เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ที่คนไม่ต้องการเปิดเผยและไม่ต้องการให้ข้อมูล Facebook จึงไม่มีการเก็บข้อมูลในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่ทำธุรกิจ หรือ นักการตลาด จะมีการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดอย่างชัดเจนว่าขายให้กับใคร ตลาดบน ตลาดกลาง หรือ ตลาดแมส (mass) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสินค้าของเราเป็นสินค้าราคาแพงที่จับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market) ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ประชากร รายได้ครัวเรือน มีผลมากในการเลือกกลุ่มเป้าหมายยิงโฆษณา เพราะไม่ว่าโฆษณาสินค้าของจะน่าสนใจแค่ไหนแต่ถ้าเรายิงแอดไปที่กลุ่มคนที่ไม่มีกำลังซื้อ เราก็อาจจะขายของได้ลำบากค่ะ
ทีนี้ Facebook ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ให้เราเลือก เราเลยต้องใช้การวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ตลาดแรงงานของไทยแทน พบว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงจะมีฐานเงินเดือนที่มากกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับน้อยกว่า ดังนั้นสินค้าที่จับตลาดบนจึงจำเป็นต้องกำหนดระดับการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายเมื่อยิงโฆษณาด้วยค่ะ
นอกจากนี้ การตั้งระดับการศึกษายังเกี่ยวพันกับประเภทสินค้าด้วยนะคะ เช่น ถ้าสินค้าของเราเน้นขายกลุ่มวัยรุ่นมัธยม กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นต้น เราก็ตั้งค่าระดับการศึกษาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าของเราก็ได้เช่นกันค่ะ
ขั้นตอนที่ 7: กด “บันทึก” ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ ความสนใจ หรือ พฤติกรรม ที่เลือก
หลังจากเรากำหนดเงื่อนไขกลุ่มเป้าหมายทางด้านประชากรศาสตร์ ความสนใจ หรือ พฤติกรรม เรียบร้อยแล้วให้เรากดปุ่ม “บันทึก” ที่อยู่ด้านล่างสุด 1 ครั้งค่ะ
ขั้นตอน 8: เลือกอายุและเพศของกลุ่มเป้าหมาย
ทำได้โดยคลิกที่ปุ่มแล้วเลื่อนปุ่มซ้าย-ขวาไปยังช่วงอายุที่ต้องการ ซึ่งอันนี้เราต้องวิเคราะห์มาก่อนแล้วนะคะว่าสินค้าของเราต้องการขายใคร มีใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าของเราบ้าง รวมถึงโพสต์ที่เราต้องการยิงโฆษณานี้ต้องการเจาะไปยังกลุ่มคนที่ช่วงอายุเท่าไหร่
จากนั้นให้กดเลือกเพศของผู้ที่เราต้องการนำส่งโฆษณาไปให้ค่ะ ถ้าสินค้าของเราเป็นสินค้าที่มีการแยกเพศชัดเจน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า สกินแคร์สำหรับผู้ชายหรือผู้หญิงโดยเฉพาะ ฯลฯ แบบนี้เราจำเป็นต้องระบุเพศในการนำส่งโฆษณาด้วยนะคะ แต่ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้ซื้อมีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ก็ให้เลือก “ทั้งหมด” ค่ะ ให้คลิก 1 ครั้ง ที่ตัวเลือกที่เราต้องการนะคะ
เมื่อเลือกเรียบร้อยก็ให้กดปุ่ม “บันทึกกลุ่มเป้าหมาย” ที่อยู่ด้านล่างได้เลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 9: กำหนดงบประมาณ
การกำหนดงบประมาณมีส่วนที่เราต้องตั้งค่าดังนี้ค่ะ
9.1 “งบประมาณทั้งหมด” หมายถึง ค่าโฆษณาตลอดทั้งแคมเปญที่เราจะต้องเสียเงินค่ะ ไม่ใช่งบประมาณต่อวันนะคะ วิธีตั้งก็ให้เราเลื่อนปุ่มกำหนดค่าโฆษณาไปยังงบประมาณที่เราต้องการได้เลยค่ะ
9.2 “ระยะเวลา” หมายถึง จำนวนวันที่เราต้องการให้โฆษณาแสดงผล วิธีตั้งคือกดเครื่องหมายบวก + หรือเครื่องหมายลบ – ให้ได้จำนวนวันที่เราต้องการค่ะ
หลังจากตั้งค่าทั้ง 2 ที่เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงสรุปงบประมาณให้เห็น โดยระบบจะคำนวณงบประมาณรายวันให้เราเสร็จสรรพเลย เช่น ถ้าเรากำหนดงบประมาณทั้งหมดตลอดแคมเปญคือ 1,000 บาท อยากให้แอดแสดงผล 5 วัน สรุปค่าใช้จ่ายที่เราจะใช้ต่อวันคือ 200 บาท เป็นต้น ให้เราตรวจทานความถูกต้องตรงสรุปผลนี้ให้เรียบร้อยก่อนกดส่งโฆษณานะคะ
ขั้นตอนที่ 10: ตั้งค่าการชำระเงิน
สำหรับคนที่เคยยิงโฆษณามาก่อน มีการตั้งค่าการชำระเงินเรียบร้อยแล้วให้ข้ามไปขั้นตอนที่ 11 ได้เลยค่ะ
สำหรับคนที่ยังไม่เคยยิงโฆษณามาก่อน ไม่เคยตั้งค่าการชำระเงิน ให้ทำตามนี้ค่ะ
10.1 กดปุ่ม “เพิ่มวิธีการชำระเงิน” เพื่อเข้าไปให้ข้อมูลการชำระเงินค่าโฆษณากับทางเฟสบุ๊คก่อนนะคะ โดยที่เราต้องตั้งค่าก็คือ
10.2 ตั้งค่าตำแหน่งที่ตั้งและสกุลเงิน เป็น Thailand, Thai Baht (THB)
10.3 เพิ่มวิธีการชำระเงิน ให้คลิกเลือกลักษณะการจ่ายเงินที่เราต้องการค่ะ ปัจจุบันมีให้เลือก 4 ช่องทาง คือ
- จ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต (ถ้าเป็นบัตรเดบิตเราต้องไปทำเรื่องลงทะเบียนช้อปปิ้งออนไลน์กับทางธนาคารก่อนนะคะ)
- จ่ายด้วย PayPal
- จ่ายผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง
- จ่ายด้วยเครดิตโฆษณา
ซึ่งเมื่อกดตัวเลือกการชำระเงินแล้ว ให้กด “ถัดไป” ระบบจะให้เราใส่ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต ยอดเงินที่เราต้องการเติม (กรณีอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง) เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 11: กด “โปรโมทโพสต์เลย”
เมื่อกดโปรโมทโพสต์ โฆษณาของเราจะยังไม่ได้เผยแพร่เลยในทันทีนะคะ ระบบจะทำการนำส่งโฆษณาของเราให้เฟสบุ๊คตรวจพิจารณาก่อนว่ามีการทำผิดกฎอะไรไหม เช่น การแสดงรูป Before-After มีข้อความโฆษณาที่ผิดกฎการใช้คำของ Facebook หรือไม่ ฯลฯ
ส่วนใหญ่แล้วถ้าโฆษณาของเราไม่ได้ทำผิดกฎอะไร โฆษณาของเราก็จะแสดงผลภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เรากดโปรโมทโพสต์ไป ซึ่งปกติ Facebook จะการันตีระยะเวลาในการพิจารณาแอดคือจะไม่เกิน 24 ชั่วโมงค่ะ แต่ถ้าเกินจากนั้น เราควรที่จะมายิงโฆษณาใหม่ โดยเราต้องเช็คดูว่าเราทำอะไรผิดกฎอะไรหรือเปล่า
ในส่วนของการยิงโฆษณาผ่านมือถือก็มีเพียงเท่านี้ค่ะ เห็นไหมคะว่ามีการตั้งค่าน้อยมาก ๆ ที่ขวัญอยากแนะนำเพิ่มเติมก็คือ เราควรที่จะมีแอพอีกแอพหนึ่งบนมือถือ ชื่อคำว่า “โฆษณา” เอาไว้ดูผลลัพธ์ของโฆษณาที่เราทำการยิงแอดไปแล้วค่ะ ซึ่งขวัญจะมาเล่าวิธีการใช้แบบละเอียดในบทความต่อๆ ไปนะคะ
อย่าลืมกดติดตามข่าวสาร สาระ เรื่องราวดิจิตอล ฉบับเข้าใจง่ายได้ทุกวันที่ STARTUP NOW Facebook Fanpage
อ่านเรื่องการตลาดดิจิตอลเพิ่มเติมได้ที่นี่ บทความการตลาดออนไลน์
อยากดูคลิปความรู้ดิจิตอลฉบับเข้าใจง่ายคลิปอื่น ๆ ไปเยี่ยมชมช่อง YouTube ของ StartUp Now กัน